อำเภอสหัสขันธ์
.....ที่ว่าการอำเภอสหัสขันธ์ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลถนนบุรี บริเวณเชิงเขาภูสิงห์
โดยมีทางหลวงแผ่นดินผ่าน อำเภอสหัสขันธ์ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี
อาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์
.....เมื่อครั้งตั้งเมืองกาฬสินธุ์ขึ้นมาใหม่ในครั้งนั้นมีหัวเมืองขึ้น 6 หัวเมือง ในปี พ.ศ. 2440 เมือง
สหัสขันธ์ ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านท่าเมือง ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านในอำเภอท่าคันโท และต่อมาได้ย้ายี่
ไปอยู่ทตำบลโพน ซึ่งปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลโพน อำเภอคำม่วง อำเภอสหัสขันธ์ได้ย้ายไปตั้งใหม่อีกครั้งที่หมู่บ้านโนนศิลา ตำบลโนนศิลา และถูกย้ายเป็นครั้งสุดท้ายมาอยู่ที่ตำบลโนนบุรีและใช้ชื่อ "อำเภอสหัสขันธ์" เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตามชื่อ
เมืองเดิม ตราบมาจนเท่าทุกวันนี้ อำเภอสหัสขันธ์แบ่งการปกครองออกเป็น 8 ตำบล 83 หมู่บ้าน คือ
.....ตำบลนิคม .....ตำบลโนนน้ำเกลี้ยง .....ตำบลโนนบุรี .....ตำบลภูสิงห์ .....ตำบลสหัสขันธ์ .....ตำบลแหลมทอง .....ตำบลโนนศิลา .....ตำบลนามะเขือ
สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าลำปาว
ความเป็นมา
.....ในปี พ.ศ. 2519 ประเทศไทยประสพปัญหาทางเศรษฐกิจ มีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น
ด้วยเห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ
และเกิดการกระจายรายได้อย่างมาก
โดยเฉพาะภาคอีสานมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่มากมายแต่กระจัดกระจาย
ทำให้ขาดการเชื่อมโยงให้มีคุณค่าและความน่าสนใจมากขึ้น
คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2519
ให้มีโครงการจัดตั้ง "อุทยานสัตว์ป่าลำปาว" ขึ้นที่บริเวณป่าเหนือเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์
เพื่อเป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในภาคอีสาน
โดยกรมป่าไม้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (อสท.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินการ
เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและป่าไม้
ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประชาชน
โดยเฉพาะเยาวชน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว
และปัจจุบันคือ "สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าลำปาว"
สังกัด สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ 9 กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ชนิดป่าและพันธุ์ไม้
.....พื้นที่สถานีฯส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง หรือ ป่าแดง หรือ ป่าแพะ (Dry Dipterocarpus forest) ป่าประเภทนี้ผลัดใบในฤดูแล้ง จึงมีสภาพป่าค่อนข้างโปร่งมีพันธุ์ไม้หลายชนิดขึ้นอยู่กระจัดกระจาย บริเวณใกล้แหล่งน้ำมีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น โดยทั่วไปชั้นเรือนยอดของป่าเต็งรังแบ่งออกเป็น 3 ชั้นเรือนยอด ดังนี้ ไม้เด่น ได้แก่ พลวง (Dipterocarpus tuberculatus) ปกคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 80 นอกจากนั้นเป็นจำพวกไม้เต็ง รัง มะพอก แดง กระบก หว้า เหียง รกฟ้า เป็นต้น ไม้พุ่ม ได้แก่ ไม้นมวัว หนามเล็บแมว เป็นต้น ไม้พื้นล่าง ได้แก่ หญ้าเพ็ก หวาย หญ้าคา ปรง รุ่นไร่ ต่างไก่ฟ้า ปรงป่า เป็นต้น นอกจากนี้ มีพื้นที่บางแห่งเป็นไร่ร้างเก่า และทุ่งหญ้า

สัตว์ป่า
.....โดยที่สภาพป่าที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่สถานีฯส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างโปร่ง สัตว์ป่าดั้งเดิมที่พบเห็นได้ในธรรมชาติ ได้แก่ ไก่ป่า กระตายป่า กระรอก อีเห็น งู นกชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพ สัตว์ป่าที่ปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ คือ วัวแดง มีประมาณ 100 ตัว สำหรับสัตว์ป่าในคอก และในกรงเลี้ยง ซึ่งทางสถานีฯได้รับบริจาค และได้เลี้ยงไว้เพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษา และเพื่อความรื่นรมย์ของประชาชน ได้แก่ เนื้อทราย เก้ง หมี ลิง ชะนี เม่น พังพอน และนกชนิดต่างๆ สำหรับนกอพยพ จะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ นกยางโทนน้อย นกยางโทนใหญ่ นกยางควาย นกยางเปีย และนกเป็ดแดง เป็นต้น เมื่อถึงฤดูร้อนจะอพยพกลับถิ่นเดิม

เขื่อนลำปาว
ความเป็นมาของเขื่อนลำปาว
.....เขื่อนลำปาวสร้างปิดกั้นลำปาวและห้วยยาง ที่เขตติดต่อระหว่างอำเภอสหัสขันธ์ อำเภอเมืองและอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเขื่อนดินยาวที่สุดในประเทศไทย สูง 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7,800 เมตร เก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างพ.ศ. 2506 ตัวเขื่อนเสร็จ พ.ศ. 2511 งานระบบ ส่งน้ำเสร็จ พ.ศ. 2528 ใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกในฤดูฝน 314,300 ไร่ ในฤดูแล้ง 200,000 ไร่ และบรรเทาอุทกภัยในที่ราบลุ่มสองฝั่งลำปาว กับบางส่วนของลุ่มน้ำชี ให้ลดน้อยลง
โครงการปรับปรุงเขื่อนลำปาว
.....เนื่องจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ดำเนินงานและใช้งานมาเป็นระยะเวลานานกว่า 35 ปี เป็นเหตุให้อาคารชลประทานได้แก่ เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ ระบบชลประทานและระบบระบายน้ำของโครงการ อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมแม้ว่าตลอดระยะเวลาการใช้งานจะได้รับการดูแล บำรุงรักษาด้วยดีมาตลอดระยะเวลาใช้งานแล้วก็ตาม ประกอบกับสภาพความต้องการใช้น้ำ สภาพสิ่งแวดล้อม และสภาพเงื่อนไขต่างๆ
ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้คาดคะเนไว้ในช่วงเวลาของการศึกษาวางโครงการ อาทิเช่น ความต้องการใช้น้ำสำหรับการปลูกพืชในฤดูแล้งที่เพิ่มมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลายขึ้น
โดยเฉพาะจากการปลูกพืชเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์ น้ำที่ต้องการใช้ตลอดปี การระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อช่วย
พื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในลำน้ำปาวตอนล่างและแม่น้ำชีความต้องการใช้ประโยชน์จากเขื่อนและ
ความจุของการเก็บกักน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็นต้น ความต้องการ
เหล่านี้ล้วนเป็นความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากที่เคยศึกษาไว้ จึงทำให้เกิดปัญหากับการบริหาร
จัดการโครงการเป็นอย่างมาก
..... จากปัญหาอันเนื่องจากความต้องการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว กรมชลประทานจึงมีความจำเป็นที่จะ
ต้องทำการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักาาลำปาวอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การปรับปรุงเขื่อนลำปาว
เพื่อเพิ่มระดับเก็บกักการปรับปรุงระบบชลประทานและระบบระบายน้ำ รวมทั้งระบบการบริหารจัดการ
โครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการให้สูงขึ้นเต็มศักยภาพ เช่น เพิ่มระดับเก็บกักน้ำ
ให้สูงขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันความต้องการใช้น้ำของราษฎร บรรเทาอุทกภัยพื้นที่เพาะปลูกและชุมชน
ทางด้านท้ายเขื่อน และสามารถตอบสนองต่อบทบาทของโครงการที่เปลี่ยนแปลงไปจากขั้นตอนการศึกษา
วางโครงการไว้เดิม
หาดดอกเกด

.....เป็นพื้นที่ที่ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวของหกรมชลประทาน ได้ปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสันเขื่อนลำปาว ได้รับฉายาจากคนในจังหวัดกาฬสินธุ์ว่า พัทยาอีสาน ลักษณะเป็นหาดทรายทอดแนวยาวตามริมฟั่งสันเขื่อนประมาณ 500 เมตร ใช้เ็ฯแหล่งพักผ่อนย่อนใจ และจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น วันสงการนต์ ลอยกระทง แข่งเรือ เป็นต้น

ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์
  .....บริเวณเชิงภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งพบซากไดโนเสาร์แห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยครั้งแรก พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน เข้าใจว่าเป็นฟอสซิลของไม้ที่กลายเป็นหิน จึงนำมาเก็บรักษาไว้ตั้งแต่พุทธศักราช 2513 ต่อมา นายวราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาและเรื่องไดโนเสาร์ ได้มาสำรวจจึงได้ทราบว่าเป็นซากของไดโนเสาร์ คณะสำรวจของไทยและฝรั่งเศส ได้นำกระดูกไปศึกษาพบว่า เป็นส่วนของกระดูกขาหน้าของไดโนเสาร์ชนิดซอโรพอด จึงมีการขุดสำรวจและดำเนินการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ ได้พบซากของไดโนเสาร์ชนิดกินพืช ในยุคครีเทเชียส อายุประมาณ 130 ล้านปี มากกว่า 6 ต้ว ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ กว่า 630 ชิ้น ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้ในสภาพตามที่พบ โดยสร้างอาคารคลุม เป็นแหล่งศึกษาท่องเที่ยวที่ควรชมแห่งหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์
ที่ตั้ง
.....ภูกุ้มข้าวอยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร การเข้าถึงพื้นที่ทำได้โดยใช้เส้นทางหลวงสาย 227 (กาฬสินธุ์-สหัสขันธ์-คำม่วง-วังสามหมอ-พังโคน) ก่อนถึงตัวอำเภอสหัสขันธ์ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่วัดสักกะวันตรงข้างโรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา ไปเป็นระยะทางประมาณ 800 เมตร จะถึงแหล่งซากไดโนเสาร์
ลักษณะของแหล่ง
.....ภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย โดยพบกระดูกไดโนเสาร์เกือบทั้งตัว กองรวมอยู่กับกระดูกไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์ต่าง ๆ อีก 2 - 3 ชนิด กระดูกทั้งหมดอยู่ในชั้นหินที่วางตัวอยู่บนไหล่เขา รูปร่างคล้ายฝาชี ในระดับความสูงทางด้านทิศตะวันตก 200 เมตร และระดับความสูงทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 240 เมตร อาคารคลุมหลุมขุดค้นมีขนาดประมาณ 700 ตารางเมตร คลุมหลุมขุดค้นพื้นที่ 280 ตารางเมตร ไว้ภายใน และได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ภูกุ้มข้าวขนาด 8,800 ตารางเมตร ในพื้นที่ติดกัน 1 หลัง เพื่อเป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าศึกษาวิจัย ของนักธรณีวิชาการจากทั่วโลก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด
ธรณีวิทยา
.....ภูกุ้มข้าว มีลักษณะเป็นเขาโดดสูงประมาณ 300 เมตร มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 460 ไร่ ประกอบด้วย หน่วยหิน 2 หน่วย เรียงลำดับอายุแก่ - อ่อน ตามลำดับจากเชิงเขาคือ หมวดหินเสาขัว และหมวดหินภูพาน หมวดหินทั้งสองวางตัวเรียงซ้อนต่อเนื่องกัน เอียงเทไปทางทิศตะวันตกด้วยมุมเอียงประมาณ 10 องศา ซากกระดูกที่สมบูรณ์พบอยู่ในชั้นหินทรายปนหินดินดาน ระดับความสูงประมาณ 200 เมตร (ตำแหน่งหลุมขุดค้น) นอกจากนี้ยังพบเศษกระดูกกระจัดกระจายอยู่ในชั้นหินกรวดมน ซึ่งอยู่เหนือและล่างชั้นซากที่สมบูรณ์ รอบ ๆ ภูกุ้มข้าวด้วย กระดูกในชั้นหินกรวดมนมีลักษณะเป็นเศษแตกหักเกิดจากแรงขัดสี แรงกระแทก ในขณะที่ถูกกระแสน้ำพัดพามาสะสมรวมกับกรวด ทั้งนี้เนื่องจากกระแสน้ำที่พัดพากรวดมีความแรงมากกว่าพัดพาตะกอนทราย เศษกระดูกจึงพบกระจัดกระจายอยู่ทั่ว ๆ ไปในชั้นหินลักษณะเช่นนี้นอกจากจะพบที่ภูกุ้มข้าวแล้วยังพบที่ภูปอ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์อีกด้วย หลุมขุดค้นซากไดโนเสาร์ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 280 ตารางเมตร ลึก 1.50 เมตร พบกระดูกมากกว่า 630 ชิ้น (มกราคม 2544) เป็นกลุ่มของกระดูกส่วนขา สะโพก ซี่โครง คอ และหางของไดโนเสาร์กินพืชไม่น้อยกว่า 7 ตัว นอกจากนี้ยังพบฟันของไดโนเสาร์ทั้งกินพืช และกินเนื้ออีกอย่างละ 2 ชนิด จากลักษณะของกระดูกพบว่า เป็นไดโนเสาร์กินพืชสกุลภูเวียง (Phuwiangosaurus sirindhornae) 1 ชนิด (รูปกระดูกหน้า 67 และรูปจินตนาการหน้า 71) และเป็นไดโนเสาร์กินพืชชนิดใหม่อีก 1 ชนิด สำหรับการศึกษาวิจัยขั้นรายละเอียดกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
การเกิดซากดึกดำบรรพ์
.....ซากดึกดำบรรพ์ หมายถึงซากสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีทั้งซากพืช ซากละอองเรณู หรือ สปอร์ของพืช ซากสัตว์ หรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในอดีตที่ได้ประทับฝังไว้ในชั้นหินหรือในหิน เมื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ จะมีส่วนประกอบของอินทรีย์สารเปลี่ยนแปลงไปจากส่วนประกอบ แต่ยังคงรูปลักษณะโครงสร้างให้เห็นอยู่ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติอันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยานั้น มีอยู่หลายวิธี เช่น
.....1). Permineralization ได้แก่การสะสมตัวของแร่ธาตุในเนื้อพรุนของซาก
.....2). Silicification ได้แก่การที่ส่วนประกอบดั้งเดิมของซากถูกแทนที่ด้วยสารซิลิกา ในรูปของแร่ ควอรตซ์ แร่คาลซิโดนี หรือแร่โอปอ
.....3). Petrification ได้แก่ ซากที่กลายเป็นหินแข็ง เนื่องจากส่วนประกอบเดิมถูกแทนที่ด้วยสารละลายซิลิกา หรือสารแคลเซียมคาร์บอเนต
.....4). Carbonization ได้แก่ การที่ซากกลายเป็นสารคาร์บอนฝังในเนื้อหิน หรือเป็นถ่านหิน
 
.....5). Trace, Track, Trail, Boring, Burrow, Cast, Mold ได้แก่ร่องรอยทางเดิน รอยหนอน รอยชอนไช รอยเจาะ รอยพิมพ์ และรูปพิมพ์บนเนื้อตะกอน ที่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและทางฟิสิกส์จนทำให้เกิดการแข็งตัวเป็นหิน เช่นรอยเท้าสัตว์บนหินทราย รอยทางเดินบนหินดินดาน รูปพิมพ์ของสัตว์จำพวกหอย หรือรอยเจาะในหินปูน
กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาเหล่านี้ทำให้ซากดึกดำบรรพ์มีส่วนประกอบผิดไปจากซากเดิมของสัตว์หรือพืช กระบวนการนับตั้งแต่เมื่อสัตว์หรือพืชตายลงจนกระทั่งเปิดเผยให้เห็นได้ในช่วงเวลาต่อ ๆ มานั้น มีขั้นตอนที่ซับซ้อนยาวนานดังต่อไปนี้ คือ
..........1. เมื่อสัตว์ตายลงซากอาจถูกสัตว์กินเนื้อหรือสัตว์กินซากนำพาชิ้นส่วนออกไปทำให้เกิดการกระจัดกระจายของชิ้นส่วนซากขึ้น แต่ในกรณีที่ซากไม่ถูกรบกวน แบคทีเรีย หนอน แมลงจะทำให้เนื้อเยื่อเน่าสลายเหลือส่วนแข็ง เช่น กระดูก ฟัน ไว้ในตำแหน่งที่สัตว์ตาย ขั้นตอนเหล่านี้จัดเป็นขั้นตอนของการทำลายทางธรรมชาติ
..........2. ซากที่กระจัดกระจาย หรือเป็นกลุ่ม ณ ที่เดิม ถูกตัวกลาง เช่น กระแสน้ำพัดพาไปยังที่แห่งใหม่ หรือน้ำนำพาตะกอนจากที่อื่น ๆ มาทับถมซากนั้นไว้ทำให้ซากไม่ถูกทำลายอีกต่อไป กระบวนการดังกล่าวนี้ถือเป็นการเก็บรักษาซากไว้โดยธรรมชาติ
..........3. ซากในชั้นดินทับถมกันมากเข้า ชั้นดินกลายสภาพเป็นชั้นหินโดยการถูกบีบอัดจนแน่นแข็ง หรือโดยมีสารละลายเคมี เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต หรือซิลิกาเข้าไปจับยึดเม็ดตะกอนเข้าด้วยกันซากที่อยู่ในชั้นดินจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นหินด้วยเช่นกัน และโดยวิธีเดียวกันกับชั้นดิน
..........4. ซากใหม่ที่ได้รับการกลบฝังอยู่ในชั้นดินชั้นบน นานเข้าจะกลายสภาพเป็นหินเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นกับซากในชั้นหินชั้นล่าง ลำดับของชั้นหินที่มีซากสัตว์หรือพืชฝังปะปนอยู่ในเนื้อ จึงเป็นเสมือนบันทึกของประวัติโลกที่บอกกล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อเนื่องกันตามเวลาที่ผ่านไป
..........5. โลกไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เปลือกโลกมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ การเกลี่ยระดับเพื่อให้เปลือกโลกราบเรียบเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่เป็นที่สูงจะถูกทำลายลงและถูกนำพาไปสะสมยังส่วนที่เป็นที่ต่ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง บึง ทะเลสาบ มหาสมุทร เป็นขั้นตอนการบันทึกข้อมูล ขณะเดียวกันการแทรกดันตัวของของเหลวร้อนภายในโลกทำให้พื้นผิวโลกเปลี่ยนสภาพไป สถานที่ที่เคยเป็นที่ต่ำเช่น ทะเล จะถูกยกตัวกลายเป็นที่สูง เมื่อชั้นหินซึ่งมีซากฝังตัวอยู่ถูกยกตัวขึ้นเป็นพื้นที่สูง กระบวนการทำลายโดยธรรมชาติจะเริ่มต้นอีกครั้ง ชั้นหินจะค่อยๆ หลุดลอกออกเผยให้เห็นซากในชั้นหิน ต่อมาชั้นหินและซากในชั้นหินจะแตกหลุดออกจากกันและถูกนำพาออกไปจากแหล่งเดิม เพื่อสะสมตัวในที่ใหม่ ประวัติเดิมจะถูกทำลายลง ในขณะที่ประวัติใหม่กำลังจะได้รับการบันทึก
..........6. นักโบราณชีววิทยา ทำหน้าที่ตีแผ่เรื่องราวของเหตุการณ์ในอดีตและเก็บรักษาบันทึกนั้นไว้ให้คงอยู่ต่อไป ด้วยการนำเอาซากออกจากชั้นหิน นำไปทะนุบำรุงให้ทนทานต่อสภาพในบรรยากาศโลก และเก็บไว้ให้ปลอดภัยที่สุดเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิง การเก็บรักษาต้องเก็บเป็นระบบตามสากลและเป็นระเบียบให้สามารถค้นออกมาศึกษาได้ การประกาศให้โลกทราบถึงสิ่งมีชีวิตสกุลหรือชนิดใหม่ของโลกต้องปฏิบัติตามกติกาสากลซึ่งกำหนดว่า ผู้ทำการเผยแพร่ข้อมูลจะต้องแจ้งสถานที่เก็บซากอ้างอิงด้วย ทั้งนี้เพื่อให้นักวิชาการทั่วโลกสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม บทความวิจัยซึ่งไม่สามารถนำตัวอย่างหลักฐานมาอ้างอิงได้จะไม่ได้รับการเชื่อถือ และไม่สามารถใช้อ้างอิงได้อีกต่อไป
  ประโยชน์และการอนุรักษ์
.....ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์และสัตว์หรือพืชทุกชนิดใช้ประโยชน์ในด้านการบอกอายุของชั้นหินและการเทียบสัมพันธ์ชั้นหิน โดยใช้เทียบจากชั้นหินอายุเดียวกัน ที่พบในที่ต่าง ๆ กัน เป็นข้อมูลวิชาการ ซึ่งนำไปใช้อ้างอิงได้ทั่วโลก จัดเป็นสมบัติหรือมรดกทางธรณีวิทยาของโลก ซึ่งจะทำให้ได้ทราบถึงความเป็นมาของโลก ในช่วงที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่บนโลก ช่วงเวลาต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังช่วงเวลาของไดโนเสาร์ว่า โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดบ้าง จึงเป็นผลทำให้มีสภาพดังเช่นปัจจุบัน นอกจากความสำคัญด้านการบอกอายุ การเทียบสัมพันธ์ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของซากดึกดำบรรพ์แล้ว ซากไดโนเสาร์นับว่ามีความสำคัญมากยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากไดโนเสาร์แต่ละชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น พบได้เฉพาะที่ แต่ละที่จะมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะสภาพแวดล้อมภูมิประเทศ และขอบเขตของแผ่นดินที่อยู่อาศัย ดังนั้นซากไดโนเสาร์ และแหล่งซากไดโนเสาร์ จึงสมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตลอดไปเพื่อรักษาข้อมูลเฉพาะตัวไว้ เนื่องจากมีการพบแหล่งซากไดโนเสาร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กรมทรัพยากรธรณีจึงมีแนวนโยบายสำหรับดำเนินการในเรื่องแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ดังนี้คือ
.....1). คุ้มครองซากกระดูกและแหล่งซากกระดูกไดโนเสาร์ โดยขอความร่วมมือจากจังหวัดว่า เมื่อมีผู้พบซากไดโนเสาร์ ขอให้จังหวัดกำหนดให้ท้องถิ่นที่พบแหล่งซากไดโนเสาร์แจ้งให้จังหวัดทราบเป็นการด่วน เพื่อทางจังหวัดจะได้ประสานกับกรมทรัพยากรธรณีให้มาดำเนินการทางด้านวิชาการและการจัดการเพื่ออนุรักษ์ซากกระดูกนั้นต่อไป
.....2). พิจารณาสภาพและสถานการณ์ของแหล่งซากกระดูกไดโนเสาร์ในแหล่งต่างๆ เพื่อการจัดการด้านวิชาการ หลุมขุดค้นบางแหล่งที่มีความเหมาะสมต่อการพัฒนา จะดำเนินการทางวิชาการพร้อมจัดสร้างอาคารคลุมหลุมถาวรไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพให้สามารถรองรับทั้งด้านการศึกษาวิจัยและด้านการท่องเที่ยวของท้องถิ่น เมื่อได้จัดสร้างอาคารเรียบร้อยแล้ว จะมอบให้หน่วยงานในท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เหมาะสมเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยต่อไป
.....3). จัดให้มีศูนย์กลางการศึกษา วิจัยซากไดโนเสาร์ ของนักวิชาการทั่วโลกแห่งแรกของประเทศ โดยการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดกลางจัดแสดงข้อมูลที่ค้นพบ จัดทำห้องปฏิบัติการสมบูรณ์แบบและคลังเก็บตัวอย่างซากกระดูกสำหรับอ้างอิงทางวิชาการที่ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และโดยการควบคุมดูแลของกรมทรัพยากรธรณี
.....4). ปรับปรุงกฎหมายให้มีบทบัญญัติด้านการอนุรักษ์แร่หรือซากดึกดำบรรพ์ให้ชัดเจน
.....5). จัดทำข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับแหล่งธรณีวิทยาที่พบซากดึกดำบรรพ์หรือซากไดโนเสาร์เป็นข้อมูลวิชาการเพื่อการศึกษาค้นคว้า
.....6). ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการวิวัฒนาการของทรัพยากรแร่ อันเกิดจากซากดึกดำบรรพ์หรือซากไดโนเสาร์ หรือการเปลี่ยนแปลงด้านธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในความควบคุมดูแลของกรมทรัพยากรธรณี
 
   

ครูกาฬสินธุ์ดอทคอม

Webmaster : Koonplan_Namo@hotmail.com ,Windows Server2000
วันที่ 1 เดือน กรกฏาคม พุทธศักราช 2550
Free Web Hosting